เนินเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครโยฮันเนสเบิร์ก ในแอฟริกาใต้ มีชื่อเสียงในเรื่องซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่เหมือน มนุษย์ ซึ่งเรียกว่าโฮมินิน (hominins) พื้นที่นี้จึงเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งกำเนิดของมนุษยชาติ
ปัจจุบัน ทีมงานวิจัยนานาชาตินำโดยนักค้นคว้าจากมหาวิทยาลัยลาโทรบ ในออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา รายงานการศึกษาชิ้นส่วนเล็กๆของกะโหลกศีรษะที่เรียกว่ายอดกะโหลกศีรษะ พบในแหล่งโบราณคดี Drimolen
ทีมตั้งชื่อยอดกะโหลกศีรษะนี้ว่า DNH 134 แต่สิ่งพวกเขาสงสัยก็คือ ซากนี้เป็นของโฮมินินกลุ่มใดด้วยเหตุว่าแหล่งกำเนิดของมนุษยชาติแห่งนี้ มีบรรพบุรุษของมนุษย์หลายสายพันธุ์ และพื้นที่ Drimolen ก็มีอย่างน้อย 2 กลุ่ม นักค้นคว้ามั้นใจว่ามนุษย์โฮโม อิเรคตัส (Homo Erectus) บางทีอาจอาศัยอยู่ร่วมกับโฮมินิน 2 กลุ่มคือ พาแรนโธรปัส (Paran-thropus) และออสตราโลพิเธคัส (Australopithecus)
นักค้นคว้าเปิดเผยว่า ยอดกะโหลก DNH 134 เป็นของมนุษย์โฮโมอิเรคตัส ซึ่งเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของผู้คน เมื่อพินิจพิจารณาหาอายุก็พบว่า DNH 134 มีอายุระหว่าง 2,040,000-1,950,000 ปี เป็นยอดกะโหลกของเด็กอายุราวๆ 2-3 ปี
การค้นพบนี้ทำให้มนุษย์โฮโม อิเรคตัสจาก Drimo-len มีความเก่าแก่ กว่าโฮโม อิเรคตัส ที่พบในเมือง Dmanisi ประเทศจอร์เจีย ซึ่งมีอายุ 1,800,000 ปี ด้วยเหตุผลดังกล่าวเชื่อได้ว่าบรรพบุรุษโดยตรงของมนุษย์เรา อาจมาจากแอฟริกา ตอนใต้ ก่อนที่จะย้าย ไปทางเหนือ แล้วหลังจากนั้น ก็เข้าสู่แอฟริกาตะวันออก.